CUTBOY

คุณแซม ( อัครพงศ์ ชีวะปัญญาโรจน์ )

 

     จากเด็กหนุ่มที่เรียนในด้านบริหารภัตตาคารซึ่งในตอนนั้นเขามีอายุเพียง 21 ปี และได้บอกกับเพื่อนว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเองที่ประเทศออสเตรเลียให้ได้อย่าง "คุณแซม-อัครพงศ์ ชีวะปัญญาโรจน์ หรือ พี่แซม แห่งร้าน CUTBOY" แต่พอเอาเข้าจริงกลับได้มีร้านมีดเป็นของตัวเอง ที่เริ่มจากการได้ลองหามีดแฮนด์เมดคุณภาพดีให้ตัวเองสักเล่มทำให้รู้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับมีดและการทำมีด จนทำให้กลายเป็นคนที่หลงไหลในเรื่องของมีดขึ้นมาจึงทำให้ตัดสินใจเปิดร้านมีด ที่แม้แต่เชฟระดับมิชลินสตาร์ยังต้องใช้มีดจากร้านเขา เรามาทำความรู้จักผู้ชายที่หลงไหลมีดคนนี้กันเลย 

HAN&CO. : คุณแซมอาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียมานานแค่ไหนครับ

คุณแซม : 10 ปีครับ ผมอยู่เมือง Adelaide เป็นเมืองทำไวน์ครับ ตอนนั้นไปเรียนบริหารภัตตาคาร ร้านอาหารและการจัดเลี้ยงครับ ไปอยู่ที่นั่นน่าจะอายุ 19 ได้ครับ

HAN&CO. : อะไรที่ทำให้ตอนนั้นตัดสินใจกลับมาที่ประเทศไทยครับ

คุณแซม : คนที่บ้านผมไม่สบายครับเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมกลับมา แต่พอกลับมาได้อยู่พักนึงน่าจะ6เดือน ก็เริ่มหาที่สมัครงานครับ และเป็นการสมัครงานครั้งเดียวในชีวิตของผมด้วย ตอนนั้นจำได้ว่าเรียกเงินเดือนไปไม่เยอะ จนเจ้านายเขาบอกว่าเราเกรงใจ เขาเลยให้เราอีก 1เท่าของที่เราเรียก ทุกวันนี้ถึงจะไม่ได้ทำงานที่นั่นแล้ว แต่ก็ยังส่งข้อความไปสวัสดีปีใหม่หาท่านอยู่เลย เพราะเราไม่ลืมครับว่าท่านเมตตาเราครับ

HAN&CO. : ทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาสู่วงการมีดได้ครับ 

คุณแซม : ผมเป็นเชฟมาก่อนครับตอนนั้นเริ่มอยากหามีดแบบที่เป็นแฮนด์เมดมาใช้เอง พอมาทำงานที่ไทยผมรู้สึกว่าเมืองไทยเราเป็นเมืองของอาหารนะ ของเอเชียเลยด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงหาร้านมีดที่คุณภาพดีๆในประเทศสักร้านไม่ได้เลย ผมเลยไปปรึกษากับช่างชาวญี่ปุ่น ที่ผมเองเป็นลูกค้าของเขาอยู่แล้วคุยกับเขาว่าอยากซื้อมาขาย ตอนนั้นเริ่มจากเงินเก็บที่มีอยู่4หมื่นบาท เริ่มสร้าง account ในอินสตราแกรม ชื่อว่า Cutboy เริ่มโพสต์ ตอนนั้นคิดอยู่ว่าถ้าเราขายอาจจะไม่มีคนซื้อ เราเลยเริ่มจากการขายให้กับเพื่อนเราก่อนเลย แต่พอเอาเข้าจริง ราคามันสูงมากเพื่อนเราก็ไม่ซื้อ สุดท้ายมีดก็ค้างอยู่ที่เราแต่เราก็หาวิธีขายออกจนได้ ถึงขั้นเคยส่งข้อความไปเสนอขายมีดที่ร้านดังๆ เราก็เคยทำมาแล้ว

HAN&CO. : เริ่มเปิดร้าน Cutboy มานานหรือยังครับ 

คุณแซม : ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้วครับ ตั้งเป้าแต่แรกไว้แล้วว่าจะมีหน้าร้าน เริ่มทำในอินสตาแกรมก่อน 3ปี ต้องทำให้มันเวิร์คและมั่นคงในระดับนึง และหลังจาก3ปีเราต้องมีหน้าร้านให้ได้ครับ เพราะถ้าเป็นไปตามแผนที่ผมวางไว้นะ ฐานลูกค้าเราจะต้องมีเพิ่มขึ้น อีกขั้นนึงของเราจะต้องมีบริการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมมีดด้วยครับ

HAN&CO. : อะไรเป็นจุดเปลี่ยนครับที่ทำให้ผันตัวจากอาชีพเชฟ มาสู่ธุรกิจขายมีด 

คุณแซม : ตอบตรงๆ เลยครับว่า เป็นเพราะรายได้ครับ “การที่ทำธุรกิจโดยที่ตัวเรามีงานหลักหรืองานประจำทำอยู่แล้วนั้นต้องเต็มที่ให้กับงานหลักก่อนครับ แต่เมื่อเราเลิกงานแล้วเราจะทำอะไรก็เรื่องของเราถูกต้องไหมครับ” ผมก็เริ่มขายมีดหลังจากที่งานประจำตอนนั้นเสร็จแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นผมเป็นที่ปรึกษาการคิดค้นในเรื่องของอาหาร พอกลับมาถึงบ้านก็เริ่มมาทำงานเสริมคือขายมีดเนี่ยแหละครับ

HAN&CO. : ตอนนั้นมีจุดขายหรือหน้าร้านที่ไหนบ้างครับ

คุณแซม :  จากการเริ่มขายในอินสตาแกรม ลองผิดลองถูกกับการใช้ social network อยู่พักนึงค่อยๆเรียนรู้ไป จำได้เลยว่าตอน แรกๆเราจะก๊อปข้อความโฆษณาของเราไว้ แล้วไปใส่ในคคอมเม้นท์ของอินสตราแกรมให้คนที่เราคิดว่าเขาน่าจะสนใจ ปรากฏว่า โดนเขาบล็อกเลยครับ ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยนะครับว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดว่ามันไปรบกวนพื้นที่ส่วนตัวของเขา ลองผิดลองถูกอยู่พักนึง จนสามารถทำยอดขายเท่ากับเงินเดือนในงานประจำของเราได้ จนรู้สึกว่ามันใช่ มันรอดแล้ว ตอนนั้นในหัวคิดเลยว่าต้องหาหน้าร้านแล้ว เทคนิคในการขายตอนนั้นของผมคือลูกค้าที่เคยซื้อของเราไป ผมเก็บรายชื่อเอาไว้หมด เมื่อมีลูกค้าที่พอคุ้นหน้าคุ้นตาบ้างแล้ว ผมเลยคิดว่างั้นเปิดร้านเลยแล้วกัน ตอนนั้นช่วงเปิดร้านประมาณ6เดือนแรกก็ยังทำงานที่เก่าอยู่นะครับ หน้าร้าน cutboy ก็จะเปิดๆปิดๆอยู่ช่วงนึง ลูกค้าก็จะมีมาบ่นๆบ้างแต่เราก็ได้อธิบายเหตุผลให้พวกเขาฟังไป เพราะว่ายอดขายและลูกค้าของเรา ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่าขายได้ เรามีการวางแผนตลอดครับ ทำธุรกิจต้องจำไว้อย่างนึงเลยคือต้องวางแผน

HAN&CO. : รู้สึกกดดันไหมครับที่เปิดร้านช่วงแรก

คุณแซม :  เป็นปกติครับ มีกดดันบ้าง ผมว่าทุกคนกดดันหมดนะแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะกดดันเรื่องไหนเท่านั้นเอง ตอนที่เปิดร้านก็จะมีความกดดัน เพราะเป็นกังวลว่าร้านจะรอดมั้ย จะเวิร์คหรือเปล่า ตอนเปิดร้านมีการวางแผนธุรกิจครับ มีการใช้  SWOT ผมว่ามันเป็นวิธีที่เก่านะแต่ผมก็ยังใช้อยู่ ใช้เพื่อคลายความกดดัน ถ้าเอาจริงๆให้ตอบว่าตอนไหนกดดันมากกว่า ก็น่าจะตอนนี้นะครับเพราะเรามีทีมงาน มีลูกน้องแล้ว แต่ถ้าไม่กดดันเรื่องนี้ก็ต้องมีเรื่องอื่นให้กดดันอยู่แล้วครับ อย่างเรื่องโควิดเนี่ยอย่างแรกเลยคือเงินเดือนที่จ่ายลูกน้องต้องครบผมไม่ตัดเลย มีเงินจ่ายค่าสินค้าที่เอามาขายให้ได้ เงินส่วนตัวต้องไม่ไปเกี่ยวด้วยเลย ร้านเราต้องอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง สำหรับผมถ้าตราบใดเอาเงินส่วนตัวออกมาใช้กับที่ร้านเมื่อไหร่ก็ต้องเตรียมอำลาวงการได้เลยครับ แต่ที่ผ่านมาบางร้านก็เอาเงินส่วนตัวมาใช้กันแต่ก็ต้องเข้าใจพวกเขาเพราะว่ามันไม่ได้มีเวลาให้เตรียมตัวด้วยครับ

HAN&CO. : อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินร้านต่อครับและอะไรที่ทำให้คิดว่าเราต้องไปต่อ

คุณแซม :  ผมแค่คิดว่าเป้าหมายในชีวิต ถ้าทิ้งความสำเร็จไว้ ณ ตอนนี้ก็คิดถึงแต่ลูก และ ผมก็อยากจะทำให้มีร้านขายมีดคุณภาพดี อยากให้คนไทยใช้มีดดีๆ ราคาที่สมเหตุผลจับต้องได้” ตอนแรกที่เริ่มขายมีดผมขายมีดราคาแพงมาก เพราะเราซื้อจาก supplier  มาน้อยเขาก็เลยขายให้เราแพง ต้นทุนของเราก็เลยแพงครับ แต่พอมีฐานลูกค้าประจำเราขายได้เยอะขึ้น เรามีอำนาจต่อรอง supplier มากขึ้น ราคาก็เลยเบาลงครับ เมื่อก่อนราคามีดเราอยู่ที่หลักหมื่น แต่ตอนนี้มาอยู่ที่หลักพัน คือด้วยตอนแรกผมขายมีดในแบบที่ผมชอบ แต่จริงๆคือเราต้องขายในสิ่งที่ลูกค้าชอบ แน่นอนถ้าเราขายของที่ลูกค้าชอบเราก็อาจจะไม่รู้สึกสนุกไปกับมันครับ

HAN&CO. : รู้ตัวตอนไหนครับว่าเราจะต้องทำสิ่งที่ลูกค้าชอบ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ 

คุณแซม :  สำหรับผมเองลูกค้าคือที่1ครับ ถ้าลูกค้าพอใจหรือเขาชอบจะต้องกลับมาใหม่ ร้านเราก็จะดำเนินกิจการต่อไปได้ครับ เรารับฟังทุกคนใครแนะนำอะไรมาเราก็รับฟัง อย่างเรื่องแพคของส่งให้ลูกค้าใน shopee เราว่าเราแพคดีแล้ว ลูกค้าให้เราตั้ง 4 ดาว จริงๆคือไม่ใช่เรื่องแย่นะครับ แต่เป้าหมายหลักของ cutboy คือ 5 ดาวเท่านั้น จากเรื่องนี้ผมเลยนัดประชุมทีมงานเลย ว่าเกิดปัญหาอะไร ถ้าเรามองว่าลูกค้าคนนี้เรื่องเยอะ เรื่องมาก เราเองก็จะไม่มีทางก้าวหน้าได้เลย

HAN&CO. : ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สถานการณ์ Covid19 ทาง Cutboy มีการปรับตัวอย่างไรบ้างครับ

คุณแซม :  ต้องปรับตัวอย่างมากเลยครับ เพราะเมื่อก่อนลูกค้าที่เป็นเชฟมืออาชีพจะใช้มีดจากร้านเราอยู่แล้ว ผมเองก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแต่ว่าสินค้าเราอยู่ในจุดที่เรียกว่า comfort zone แต่พอมาเจอสถานการณ์โควิด เราต้องออกมาจากจุดนั้นทันทีครับ พอมองดูดีๆแล้วถ้ามัวอยู่ใน comfort zone ก็จะไม่มีทางได้พัฒนาไปไหน พอเจอโควิดผมก็คิดว่าเราปล่อยให้ลูกค้าของเรา 70% เป็นชาวต่างชาติได้อย่างไร พอปิดประเทศไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 70% ตรงนี้หายไปเลย บวกกับอีก 12% ที่เป็นธุรกิจโรงแรมด้วย แต่ตอนนี้ลูกค้าเราเป็นคนไทย 80% แล้วครับ พอมาเป็นตลาดในไทยเป็นตลาดใหม่สำหรับผมเลยครับ ตอนแรกไม่รู้ด้วยว่าจะเข้าถึงลูกค้าอย่างไร โฆษณาอย่างไรดีเขาถึงจะเชื่อ ผมเลยไปคุยกับ Influencer เพื่อที่อยากจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทย ผมเลยรู้ว่าลูกค้าในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทยนะ คือคนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย เป็นคนที่เสพคอนเท้นท์ และไม่ใช่แค่คอนเท้นท์เดียวแต่เป็นเรื่องที่หลากหลายมาก ผมถึงต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเชื่อว่าของเรานั้นดีจริงๆ

HAN&CO. : ถ้า Covid19 หายไปคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไหมครับ 

คุณแซม :  ผมมั่นใจว่าดีขึ้นแน่นอนครับ เพราะเมื่อก่อนลูกค้าของเรา 30% คือคนไทย แต่ตอนนี้ตลาดในไทยคือ 80% เลยครับ ในส่วนของยอดขายเกือบเท่าเดิมนะครับ มีลดลงไปบ้าง แต่เราก็มีเป้าหมายให้ทีมงานเพื่อที่จะเอาลูกค้าต่างประเทศกลับคืนมาให้ได้ครับ

HAN&CO. : ทุกวันนี้ยังทำอาหารอยู่ไหมครับ แล้วคิดว่าจะกลับไปเปิดร้านอาหารอีกครั้งไหมครับ 

คุณแซม :  ผมเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว ยังคงทำอยู่ปกติครับ ส่วนในเรื่องของร้านอาหารนั้น ตอนนี้ผมมองว่ายังไม่พร้อม ผมว่าเราเองจะเข้าไปในวงการอาหารเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าเรามีการวางแผนไว้ดีพอ แต่ผมเองก็คิดอยู่เสมอว่า ถ้าผมเข้าไปในธุรกิจอาหารก็เท่ากับว่าจะต้องไปเป็นคู่แข่งของลูกค้าผมเองครับ และด้วยสถานการณ์ตอนนี้ลูกค้าของเราเองก็แย่พอแล้ว ผมไม่อยากเข้าไปแข่งกับพวกเขาครับ

HAN&CO. : อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจครับ เช่นจะต้องมีแนวคิดอย่างไรเตรียมตัวอย่างไร 

คุณแซม :  การวางแผนธุรกิจอยากให้น้องๆรุ่นหลังหรือคนที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจนั้น ให้คิดว่าตนเองต้องขาดทุนไว้ก่อน และจะแก้ปัญหาอย่างไร ปัญหามันเกิดมาจากอะไร อย่าพึ่งไปมองว่าจะต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มเลยครับ

The cookie settings on this website are set to 'allow all cookies' to give you the very best experience. Please click Accept Cookies to continue to use the site.
You have successfully subscribed!
This email has been registered
ico-collapse
0
ic-cross-line-top
Top
ic-expand
ic-cross-line-top